ชีวิตของผม กับ โหราศาสตร์ ตอนที่ 4 วันที่ 14/09/2017 15:44:11 PM ,ผู้เข้าชม : 1380
วิโรจน์ กรดนิยมชัย
2 กันยายน 2560 : 22.19 น.
ด้วยความที่ผมไม่ใช่ “ศิษย์ก้นกุฏิ” ผมจึงไม่ค่อยรู้เรื่องราวต่างๆที่เกี่ยวกับประวัติชีวิตของท่าน ตลอดจน วัน เวลา ที่ท่านเดินทางไปศึกษาโหราศาสตร์ที่ Hamburg ที่ผมรับรู้บางเรื่องราวก็มาจากการบอกเล่าจากอาจารย์เอง รวมทั้งจากการพูดคุยกับ “ศิษย์รุ่นพี่” ผมทราบเพียงว่า อาจารย์พลตรีประยูร ได้รับอนุญาตจาก Hamburg ให้สามารถแปลหนังสือทุกเล่มเป็นภาษาไทยได้ ซึ่งหนังสือคัมภีร์สูตรพระเคราะห์สนธิ คือผลงานชิ้นเอกของท่าน ที่ถ่ายทอดความคิดของ Hamburg มาให้นักเรียนยูเรเนียนในประเทศไทยได้มี “คัมภีร์โหราศาสตร์” ที่ดีที่สุด ใช้มาจนถึงทุกวันนี้ จะเป็นที่น่าเสียดายเป็นอย่างยิ่ง ถ้าหากนักเรียนยูเรเนียนจะรู้จักคัมภีร์สูตรพระเคราะห์สนธิ เฉพาะสมการดวงดาว ที่บรรจุอยู่ในโปรแกรมยูเรเนียนโดยไม่มีหนังสือคัมภีร์ฉบับ “หนังสือกระดาษ” ไว้ “อ่าน และหาความรู้ที่มากกว่า สูตรสมการดาว”
วันที่ 16 มีนาคม 2536 อาจารย์พลตรีประยูร พบอารีย์ ท่านถึงแก่กรรม และงานพระราชทานเพลิงศพของท่าน ในวันที่ 21 มีนาคม 2536 ชีวิตของท่านได้เดินทางจากราศีเมษในดวงชะตากำเนิดของท่าน ผ่านราศีมีน และกลับสู่จุดเมษบนสรวงสวรรค์ในวันวสันตวิษุวัต พอดี
จากวันนั้น ถึงวันนี้ ผมกล้าบอกได้ว่า ยังไม่มีหนังสือโหราศาสตร์ยูเรเนียนในประเทศไทยที่ดีเท่ากับ หนังสือ อารัมภบทโหราศาสตร์ และ คัมภีร์สูตรพระเคราะห์สนธิ มรดกความรู้ของอาจารย์ ที่ผมนำมาใช้สอนตลอด 24 ปี สอนด้วยการแนะนำแต่ละหน้าในคัมภีร์ เพื่อให้นักเรียนรุ่นหลังได้ใช้คัมภีร์อย่างเจ้าใจ และถูกต้อง ตามอย่างที่อาจารย์ได้เคยสอนนักเรียนยูเรเนียนที่สมาคมโหรแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชินูปถัมภ์ในช่วงที่ท่านยังสอนอยู่ ภายหลังจากที่หนังสือได้จัดพิมพ์เสร็จในปี 2531 หรือ 2532 และผมได้สอนต่อมาตลอดจนถึงวันนี้
ตอนที่แล้วผมบอกว่าจะเล่าเรื่องการสอนโหราศาสตร์ยูเรเนียน ผมก็จะเล่าต่อจากนี้
ชั่วโมงแรกของการเรียน อาจารย์จะบอกให้รู้ว่า การเรียนโหราศาสตร์นั้น ไม่ใช่เพียงการเรียนเรื่องของดวงดาวเพียงอย่างเดียว เพราะ นักโหราศาสตร์จะต้องรู้ปรัชญาที่สำคัญ และเกี่ยวข้อง เพื่อนำไปใช้ในการอ่านดวงชะตา และการพยากรณ์ จากนั้นจะอธิบายดาราศาสตร์ที่จำเป็นพอสังเขป ได้แก่ ระบบสุริยจักรวาล การโคจรของโลก และดวงดาว แล้วจึงเข้าสู่ความหมายของดวงดาว จักรราศี และเรือนชะตา การคำนวณดวงชะตาด้วยปฏิทิน EPhemeris (ผมก็สอนตามนี้) การอ่านพื้นดวงชะตา ความรู้เรื่องมุมสัมพันธ์ การอ่านดวงชะตาทั้ง Primary และ Secondary progress การใช้โค้งสุริยยาตร์ การคำนวณดวงทินวรรษ การใช้ดวง Transit ต่างๆ รวมทั้งเกร็ดความรู้โหราศาสตร์จากเหตุการณ์และสถานการณ์ปัจจุบัน จึงไม่แปลกใจที่ นักเรียนรุ่นพี่หลายคน ติดตามเรียนซ้ำๆ ซ้ำแล้วซ้ำอีก จนถึงวันที่อาจารย์ถึงแก่กรรม รุ่นพี่เหล่านั้นจึงหยุดเรียน ผมเคยถามรุ่นพี่ๆว่า ทำไมต้องเรียนซ้ำๆ คนละหลายๆปีไม่รู้สึกเบื่อกันบ้างหรือ คำตอบที่ได้คือ เพราะอาจารย์จะมีเกร็ดความรู้ที่ไม่ซ้ำกันเลยในแต่ละปีที่เรียน ทำให้ได้รับความรู้เพิ่มขึ้นตลอดเวลา ผมเรียนกับอาจารย์ตั้งแต่ 30 มิถุนายน 2530 ถึงกลางเดือนกุมภาพันธ์ 2536 เพราะอาจารย์ล้มป่วย และถึงแก่กรรมในที่สุด ผมจึงต้องยุติชีวิตนักเรียนยูเรเนีนนไปด้วย และผมภูมิใจที่ได้ทำหน้าที่ของลูกศิษย์คนหนึ่งที่ได้ช่วยพาอาจารย์กลับสู่ราศีเมษเมื่อวันที่ 21 มีนาคม 2536 |