ดาวศุกร์โคจรผ่านหน้าดวงอาทิตย์ เหนือฟ้าประเทศไทย 2555
วิโรจน์ กรดนิยมชัย
6 มิถุนายน 2555
ในปี 2555 นี้นอกจากจะมีปรากฏการณ์การเกิดคราสเป็นปกติแล้ว มีปรากฏการณ์พิเศษซึ่งไม่ได้เกิดขึ้นบ่อยครั้งนัก คือปรากฏการณ์ดาวศุกร์โคจรผ่านหน้าดวงอาทิตย์ จึงเกิดคำถามว่า ในอดีตมีเหตุการณ์สำคัญใดบ้างที่เคยเกิดขึ้นในช่วงเวลาที่ดาวศุกร์โคจรผ่านหน้าดวงอาทิตย์ เพื่อที่จะนำมาศึกษาเปรียบเทียบตามหลักปรัชญา อดีต ปัจจุบัน และอนาคต ล้วนเป็นสิ่งเดียวกัน เพราะทุกการเกิดปรากฎการณ์ต่างๆนั้นไม่เคยมีปรากฏการณ์ใดที่เป็นปรากฏการณ์ครั้งแรก และครั้งเดียว ทุกปรากฏการณ์บนท้องฟ้า ล้วนเคยเกิดซ้ำครั้งแล้วครั้งเล่า สอดคล้องกับเหตุการณ์บนพื้นโลกที่วนเวียนเกิดขึ้นซ้ำรอยเดิมตลอดเวลา จึงนับเป็นความสัมพันธ์ของวงรองการเกิดซ้ำระหว่างปรากฏการณ์บนฟ้า กับเหตุการณ์บนดิน ตามหลักปรัชญา As Above So Below
ปรากฏการณ์ดาวศุกร์โคจรผ่านหน้าดวงอาทิตย์ (Transit of Venus) นั้นเป็นปรากฏการณ์ที่ดาวศุกร์โคจรมาอยู่ในตำแหน่งระหว่างโลกและดวงอาทิตย์ โดยจะเกิดขึ้นเพียง 4 ครั้งในรอบ 243 ปี โดยมีรอบการเกิดปรากฏการณ์เป็นคู่ แต่ละคู่จะห่างกัน 121.5 (+/- 8) ปี (และแต่ละครั้งใน 1 คู่ นั้นจะเกิดห่างกัน 8 ปี) หากครั้งแรกของคู่แรกเกิดห่างจากครั้งแรกของคู่หลัง 129.5 ปี ครั้งแรกของคู่หลังจากห่างจากครั้งแรกของรอบถัดไป 113.5 ปี ตัวอย่าง เช่น เหตุการณ์ดาวศุกร์ผ่านหน้าดวงอาทิตย์ในศตวรรษนี้ ครั้งแรกของคู่ วันที่ 6 มิถุนายบน 2555 นี้ คือ วันที่ 8 มิถุนายน 2547 ซึ่งเกิดห่างจากครั้งแรกของคู่ก่อนหน้า เมื่อวันที่ 9 ธันวาคม 2417 เป็นเวลา 129.5 ปี และห่างจากครั้งแรกของคู่ถัดไปซึ่งจะเกิดขึ้นในวันที่ 11 ธันวาคม 2660 เป็นเวลา 113.5 ปี ส่วนอีกครั้งถัดไปหลังจากนั้นจะเกิดขึ้นในวันที่ 8 ธันวาคม 2668
(ข้อความ บางตอนมาจาก : http://www.manager.co.th/Science/ViewNews.aspx?NewsID=9550000069145)
เหตุการณ์ในอดีตเมื่อดาวศุกร์โคจรผ่านหน้าดวงอาทิตย์
ในรอบ 400 ปี ที่ผ่านมามีการบันทึกเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ณ ขณะเดียวกับปรากฏการณ์ดาวศุกร์โคจรผ่านหน้าดวงอาทิตย์ ดังนี้
7 ธันวาคม 2174 (1631)
มองเห็นได้ในประเทศไทย - ยุคฟื้นฟูศิลปวิทยาในยุโรป ไม่กี่ปีหลังจากเคปเลอร์เผยแพร่กฎการเคลื่อนที่ของดาวเคราะห์
ตรงกับสมัยกรุงศรีอยุธยา รัชสมัยของพระเจ้าประสาททอง (2173-2199) เพิ่งปราบดาภิเษกเมื่อปี 2173 ภายหลังจากการแย่งชิงสมบัติกันระหว่างเจ้าพระยากลาโหมสุริยวงศ์ กับพระอาทิตยวงศ์
4 ธันวาคม 2182 (1639)
มองไม่เห็นในประเทศไทย - หนึ่งปีหลังจากกาลิเลโอตีพิมพ์หนังสือ Dialogues Concerning Two New Sciences อธิบายเกี่ยวกับวิทยาศาสตร์ของการเคลื่อนที่
ตรงกับรัชสมัยของ รัชสมัยของพระเจ้าประสาททอง (ไม่สามารถหาข้อมูลเหตุการณ์มารองรับได้)
6 มิถุนายน พ.ศ. 2304 (1761)
มองเห็นได้ในประเทศไทย - 3 ปีหลังจากดาวหางฮัลเลย์กลับมาปรากฏในปี 1758
ตรงกับปลายสมัยกรุงศรีอยุธยา ช่วงสมัยรัชกาลของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ เกิดการแย่งชิงราชสมบัติระหว่างพระเจ้าเอกทัศกับพระเจ้าอุทุมพร เนื่องจากพระองค์ทรงเลือกพระอนุชาขึ้นเป็นกษัตริย์ไม่เป็นไปตามราชประเพณี แต่พระเจ้าเอกทัศก็ทวงบัลลังก์ ได้ขึ้นเป็นกษัตริย์องค์สุดท้ายแห่งกรุงศรีอยุธยา ครั้นในปี พ.ศ. 2303 พระเจ้าอลองพญาทรงนำทัพมารุกรานอาณาจักรอยุธยา พระเจ้าอุทุมพรทรงถูกเรียกตัวมาบัญชาการตั้งรับพระนคร แต่ภายหลังจากที่กองทัพพม่ายกกลับนั้น พระองค์ก็ได้ลาผนวชดังเดิม
3 มิถุนายน พ.ศ. 2312 (1769)
หลังการเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ 2 เมื่อปี 2310 สมเด็จกระเจ้าตากสินทรงกอบกู้สร้างกรุงธนบุรีขึ้นมาท่ามกลางการตั้งตนเป็นใหญ่ของหัวเมืองต่างๆที่ต้องการจะรวบรวมหัวเมืองต่างๆเพื่อแข็งเมืองต่อพระเจ้าตากสิน ในราวปี พ.ศ. 2311 สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีทรงเริ่มจากยกทัพไปตีชุมนุมพิษณุโลกเป็นก๊กแรก แต่กระสุนปืนต้องถูกพระองค์ จึงต้องยกทัพกลับและรักษาพระองค์ยังพระนคร ชุมนุมพิษณุโลกนี้ภายหลังอ่อนแอลงจนกระทั่งถูกชุมนุมเจ้าพระฝางผนวกไป หลังหายจากพระอาการประชวรแล้ว สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีได้ทรงใช้เวลาในการปราบปรามชุมนุมอื่น ๆ เพื่อรวบรวมแผ่นดินให้เป็นปึกแผ่นต่อไป โดยเริ่มจากชุมนุมเจ้าพิมาย กรมหมื่นเทพพิพิธทรงถูกปราบปรามและถูกสำเร็จโทษในปี พ.ศ. 2312 ตามด้วยชุมนุมเจ้านครศรีธรรมราช ซึ่งพระปลัดผู้รั้งเมืองนครศรีธรรมราชได้ตั้งตัวเองขึ้นเป็นเจ้า เจ้านครศรีธรรมราชสู้ไม่ได้หนีต่อลงไปยังหัวเมืองทางใต้ พระยาปัตตานีกลัวก็จับตัวมาส่งให้สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี ในปี พ.ศ. 2313 สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีทรงยกทัพไปตีชุมนุมเจ้าพระฝาง รักษาเมืองสวางคโลกได้เพียง 3 วัน ก็แตกหนี เมื่อทรงปราบปรามชุมนุมต่าง ๆ ลงอย่างราบคาบแล้ว รัฐบาลจีนก็เริ่มให้การยอมรับสถานะพระมหากษัตริย์ของพระองค์อย่างเป็นทางการ
9 ธันวาคม พ.ศ. 2417 (1874)
27 ธันวาคม เกิดไฟไหม้ในวังหลวง มีการเรียกประชุมนายทหารในกรณีหวาดระแวงกับวังหน้า
1 มกราคม 2418 กรมพระราชวังบวรหวาดระแวงจนต้องเสด็จไปอยู่สถานกงสุลอังกฤษ
6 ธันวาคม พ.ศ. 2425 (1882)
มองไม่เห็นในประเทศไทย
ครบ 100 ปี กรุงรัตนโกสินทร์ ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5
12 สิงหาคม พวกอั้งยี่ปิดตลาดพลูต่อสู้กัน ต้องส่งทหารมาปราบ
15 สิงหาคม ออกพระราชบัญญัติอั้งยี่
8 มิถุนายน พ.ศ. 2547 (2004)
4 มกราคม คนร้ายเผาโรงเรียนในพื้นที่จ.นราธิวาส 20แห่ง รวม 11 อำเภอ บุกเข้าไปยึดค่าย ร.5 พันพัฒนาที่ 4 ค่ายปิเหล็ง อ.เจาะไอร้อง จ.นราธิวาส ยิงทิ้งทหาร 4 นาย
28 เมษายน เหตุการณ์ที่มัสยิดกรือเซะ: มีผู้ชุมนุมเสียชีวิตในเหตุการณ์นี้รวม 108 คน ขณะที่เจ้าหน้าที่เสียชีวิต 5 นาย
16 มิถุนายน จอมพลถนอม กิตติขจร นายกรัฐมนตรีคนที่ 10 ผู้มีบทบาทสำคัญกรณี 14 ตุลาคม 2516 และ 6 ตุลาคม 2519 ถึงแก่อสัญกรรมด้วยภาวะหัวใจล้มเหลวและเส้นโลหิตในสมองแตก
25 ตุลาคม เหตุการณ์ที่ตากใบ: เกิดเหตุปะทะกันระหว่างเจ้าหน้าที่กับผู้ชุมนุมหลายร้อยคน หน้า สภ.อ.ตากใบ ตำบลตากใบ อำเภอตากใบ จังหวัดนราธิวาส หลังสลายการชุมนุมแล้ว มีผู้เสียชีวิต 4 คน และเจ้าหน้าที่ได้ส่งผู้ชุมนุมจำนวนมากขึ้นรถบรรทุก หลังจากนั้นพบว่ามีผู้ชุมนุมอีก 78 คน เสียชีวิตบนรถเนื่องจากขาดอากาศหายใจ
14 พฤศจิกายน ตัวแทนอาจารย์จากหลายมหาวิทยาลัยเข้าพบนายกรัฐมนตรี ยื่นหนังสือต่อรัฐบาลกรณีการแก้ไขปัญหาความรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยเสนอให้นายกรัฐมนตรีกล่าวคำขอโทษต่อครอบครัวผู้เสียชีวิตในเหตุการณ์ที่ตากใบ ใช้สันติวิธีในการแก้ไขปัญหา และใช้หลักการการมีส่วนร่วมของประชาชนในท้องถิ่น โดยเสนอให้ร่วมกันก่อตั้ง "คณะกรรมการสมานฉันท์แห่งชาติ" เพื่อระดมความคิดเห็นจากทุกฝ่าย
26 ธันวาคม เหตุการณ์แผ่นดินไหวมหาสมุทรอินเดีย พ.ศ. 2547 ด้วยระดับความแรง 9.0 ริกเตอร์ ก่อให้เกิดคลื่นยักษ์สึนามิ ซัดเข้าฝั่งรอบมหาสมุทรอินเดีย อาทิ ศรีลังกา, อินเดีย, อินโดนีเซีย, ไทย รวมถึงชายฝั่งบางส่วนของทวีปแอฟริกา มียอดผู้เสียชีวิตกว่า 229,866 คน โดยในประเทศไทยมีผู้เสียชีวิตถึง 5,395 คน
มุมมองจากเหตุการณ์ในอดีต
จากเหตุการณ์ในอดีตจะพบว่าเมื่อมีปรากฏการณ์ดาวศุกร์โคจรผ่านหน้าดวงอาทิตย์จะมีเหตุการณ์สำคัญเกิดขึ้นในประเทศไทยแบ่งได้เป็น 2 มุมมอง คือ
1. มุมมองของช่วงเวลา คือ ช่วงก่อนเปลี่ยนแปลงการปกครอง ก่อนปี 2475 และเหตุการณ์หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง กล่าวคือ
1.1 ในช่วงก่อนเปลี่ยนแปลงการปกครอง พระมหากษัตริย์จะต้องทรงเหน็ดเหนื่อยกับการปราบปรามพวก กบฎ แข็งเมืองตั้งแต่ก่อนการเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ 2 และ เหตุการณ์ที่มีผลกระทบต่อสถาบันพระมหากษัตริย์
1.2 ในช่วงหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง สถานการณ์ที่เกิดขึ้น คือรัฐบาลมีปัญหากับผู้ชุมนุมเพื่อเรียกร้องสิ่งที่ต้องการ และการใช้ความรุนแรงของรัฐบาลในการใช้อาวุธเข้าปราบปรามประชาชน
2. มุมมองทางโหราศาสตร์ พิจารณาจากวันที่มีปรากฏการณ์ คือ
2.1 ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในเดือนมิถุนายน คือ ราศีมิถุน ธาตุลม เหตุการณ์ที่เกิดขึ้น จะเป็นเรื่องของการก่อกบฏ การแข็งข้อของบรรดาหัวเมืองต่างๆ และการก่อความไม่สงบ
2.2 ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในเดือนธันวาคม คือ ราศีธนู ธาตุไฟ เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจะเกี่ยวข้องกับปัญหาในราชสำนัก
ตัวละครที่มีบทบาทสำคัญต่อเหตุการณ์ในปี 2555
ราศีมิถุน (ธาตุลม) ซึ่งมีความหมายถึง การทำกิจกรรมเกี่ยวกับพี่น้อง เพื่อน การเจรจา การต่อรองผลประโยชน์ การสื่อสาร การคมนาคมและการขนส่งการกระทำต่างตอบแทน การเป็นนอมินี การเป็นตัวแทน /นายหน้า
ราศีมิถุน หมายถึงบุคคลที่เกิดระหว่างวันที่ 21 พฤษภาคม 20 มิถุนายน ของทุกปี
ราศีตุล (ธาตุลม) มีความหมายถึง การให้ การทำให้เกิดความปรองดอง การสมานฉันท์ ความสงบ สันติสุข พวกสุขนิยม การประณีประนอม การสมยอมกัน
ราศีตุล หมายถึง บุคคลที่เกิดระหว่างวันที่ 23 กันยายน 20 ตุลาคม ของทุกปี
จะพบว่า บุคคลที่มีบทบาทสำคัญในรัฐบาลปี 2554-2555 นี้ เกิดในราศีมิถุนและราศีตุล ซึ่งเป็นราศีธาตุลม ได้แก่
1. น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เกิดวันที่ 20 มิถุนายน 2510 ธาตุลม อุภยราศี (ปลายราศี)
2. ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง เกิดวันที่ 10 มิถุนายน 2490 ธาตุลม อุภยราศี (ปลายราศี)
3. นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ เกิดวันที่ 4 มิถุนายน 2518 ธาตุลม อุภยราศี (ปลายราศี)
4. พลเอกสนธิ บุญยรัตกลิน เกิดวันที่ 2 ตุลาคม 2489 ธาตุลม จรราศี (ต้นราศี)
5. นายจตุพร พรหมพันธุ์ เกิดวันที่ 5 ตุลาคม 2508 ธาตุลม จรราศี (ต้นราศี)
รายละเอียดแห่งพฤติกรรมของบุคคลเหล่านี้ คงเป็นที่ทราบกันดีว่า แต่ละคนล้วนแสดงบทบาทของตนเองตามราศีเกิด ทั้งด้านบวก และด้านลบ ทั้งสิ้น ซึ่งสถานการณ์ ณ ขณะนี้ 6 มิถุนายน 2555 บุคคลเหล่านี้กำลังมีบทบาทสำคัญทั้งต่อดวงชะตาของตนเองและประเทศไทยที่จะต้องกล่าวขานกันไปอีกนานเท่านาน
ปรากฏการณ์ดาวศุกร์โคจรผ่านหน้าดวงอาทิตย์ในวันที่ 6 มิถุนายน 2555 ซึ่งเปรียบเสมือน การนำความสุข ความสงบ ความอุดมสมบูรณ์ของบุคคลเหล่านี้ให้ผ่านพ้นไปต่อหน้าต่อตาของดวงอาทิตย์ ซึ่งในทางโหราศาสตร์ ดวงอาทิตย์จะเป็นตัวแทนของราศีสิงห์ ธาตุไฟ สถิรราศี ซึ่งหมายถึง บุคคลสำคัญของประเทศ อันได้แก่ พระมหากษัตริย์ ประมุขแห่งรัฐ ผู้นำในระดับต่างๆ
สรุปเหตุการณ์ในปี 2555 ดาวศุกร์โคจรผ่านหน้าดวงอาทิตย์
ดาวศุกร์ผ่านหน้าดวงอาทิตย์ในวันที่ 6 มิถุนายน 2555 จากสถานการณ์ที่เกิดขึ้น ณ ปัจจุบันนี้ ประเทศไทยจึงเข้าสู่วงรอบการเกิดซ้ำอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งจะสอดคล้องในลักษณะของกรณีการเกิดการก่อกบฏและการก่อความไม่สงบในราชอาณาจักร ซึ่งสามารถสรุปเหตุการณ์ที่กำลังเกิดขึ้น และกำลังอาจจะเกิดขึ้นได้ ดังนี้
1. มีความพยายามจากบางฝ่ายที่ต้องการเปลี่ยนแปลงพระราชอำนาจของสถาบันพระมหากษัตริย์
2. มีการจัดตั้งชุมชนเพื่อแสดงอำนาจและอิทธิพลเหนืออำนาจตามกฏหมาย
3. มีการกระทำที่ไม่ยอมรับอำนาจตามรัฐธรรมนูญฉบับที่ใช้งานในปัจจุบัน
4. มีความพยายามที่จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงระบบการเมืองให้แตกต่างไปจากปัจจุบัน
และผลสรุปของเหตุการณ์ในอดีตนั้น บรรดาผู้ก่อการต่างๆล้วนไม่ประสบความสำเร็จทั้งสิ้น พระมหากษัตริย์ในอดีตทรงสามารถนำพาประเทศเข้าสู่ภาวะปกติได้ในเวลาไม่นานนัก ซึ่งเท่ากับว่า ผลสรุปในปี 2555 ก็จะมีผลลัพธ์ของเหตุการณ์ไม่น่าจะแตกต่างจากในอดีต ตามหลักปรัชญา อดีต ปัจจุบัน และอนาคต ล้วนเป็นสิ่งเดียวกัน
--------------------------------------
แหล่งข้อมูล
สมาคมดาราศาสตร์ไทย - http://thaiastro.nectec.or.th/
Wikipedia
|