โดย Pallas
กุมภาพันธ์ 2554
ว่ากันว่าระบบปฏิทินของจีนเป็นปฏิทินที่เก่าแก่ที่สุดที่มีการใช้งานอย่างต่อเนื่องตั้งแต่โบราณกาลจนถึงปัจจุบัน และเชื่อว่าจะยิ่งทวีความสำคัญเพิ่มขึ้นไปอีกตามบทบาทของจีนที่มีต่อโลกมากขึ้นเรื่อยๆ อย่างไรก็ตาม ระบบปฏิทินของจีนนับว่าเป็นระบบที่ซับซ้อนมากกว่าระบบสากลที่ใช้โลกตะวันตกอยู่มาก เพราะเป็นการผสมผสานทั้งจันทรคติ, สุริยคติ และสูตรคำนวณต่างๆเข้าด้วยกัน ทำให้ไม่ง่ายนักที่จะทำความเข้าใจ
ต้องออกตัวก่อนว่า ผมเองนั้นไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญด้านระบบปฏิทินจีนหรือโหราศาสตร์จีน แต่เขียนบทความนี้ขึ้นเพื่อบันทึกความเข้าใจของตนเองที่ได้อ่านตำราและบทความต่างๆ ผสมกับความรู้ความเข้าใจทางโหราศาสตร์ที่ผมร่ำเรียนมาอันเป็นระบบทางตะวันตกที่แตกต่างจากระบบจีนอย่างมาก เนื้อหาหลักๆของบทความนี้มาจากตำราชื่อ The Complete Guide to Chinese Astrology: The Most Comprehensive Study of the Subject ever Published in the English Language เขียนโดย Derek Walters พิมพ์ครั้งแรกเมื่อ ค.ศ. 1984 โดยอาจารย์พลังวัชร์ได้เอื้อเฟื้อแนะนำหนังสือเล่มนี้มาเมื่อ 2-3 ปีก่อน ดังนั้น หากผู้อ่านท่านใดมีข้อทักท้วงแนะนำประการใด ผมยินดีที่จะรับฟังอย่างยิ่ง และหากบทความนี้มีข้อผิดพลาดประการใด ก็ขอเรียนให้ทราบว่าเป็นความผิดพลาดของผมเองอันอาจเกิดจากความรู้ความเข้าใจที่ยังไม่ครบถ้วนนั่นเอง
หน่วยใหญ่ที่สุดในระบบของจีนก็คือ มหายุค (epoch) ซึ่งมีระยะเวลายาวนาน 3,600 ปี แบ่งเป็น 60 วงรอบ (cycle) วงรอบละ 60 ปี โดยเพิ่งขึ้นวงรอบใหม่เมื่อ ค.ศ. 1984 เป็นการเริ่มต้นวงรอบที่ 18 ในมหายุคที่ 2 ตั้งแต่เริ่มประวัติศาสตร์ของจีนที่มีการบันทึกไว้
ในแต่ละวงรอบ 60 ปี จะแบ่งเป็น 5 รอบ (Great Years) รอบละ 12 ปี ตรงรอบ 12 ปีนี้เองได้มีการกำหนดชื่อนักษัตรลงไปกลายเป็นปีนักษัตรที่เราทุกคนคุ้นเคยกันดี เริ่มต้นจาก ชวด ฉลู ขาล เถาะ มะโรง มะเส็ง มะเมีย มะแม วอก ระกา จอ กุน นั่นเอง
ความแตกต่างที่เห็นได้อย่างชัดเจนระหว่างปฏิทินแบบตะวันตกกับปฏิทินแบบจีน ก็คือ ปฏิทินตะวันตกเป็นแบบสุริยคติ มีระยะเวลาแต่ละปีที่คงที่ มีการปรับแก้เพียง 1 วันทุกๆ 4 ปี โดยคำนวณจากปรากฏการณ์ระหว่างโลกกับดวงอาทิตย์
ส่วนปฏิทินจีนนั้นเป็นการผสมผสานระหว่างจันทรคติและสุริยคติ เริ่มจากวันปีใหม่หรือวันตรุษจีนนั้นกำหนดจากจันทรคติ คือถือเอาวันอมาวสี (New Moon) หรือวันจันทร์ดับเป็นวันปีใหม่ จากนั้นใช้เดือนแบบจันทรคติ ก็คือมีข้างขึ้นข้างแรม ทำให้ในแต่ละเดือนประกอบด้วย 29 หรือ 30 วัน เพราะระยะห่างระหว่างอมาวสีเท่ากับ 29.53 วัน ซึ่งตรงนี้จะคล้ายกับปฏิทินแบบไทย ส่งผลให้ในแต่ละปีจะมีจำนวนวันน้อยกว่าปฏิทินตะวันตกอยู่ประมาณ 10 วัน ส่งผลให้ต้องมีการเพิ่มเดือนพิเศษ (อธิกมาส) เข้าไปในบางปี เพื่อให้สอดคล้องกับสวรรค์ การบวกเดือนเพิ่มสำหรับปฏิทินจันทรคตินั้นจะต้องบวกเพิ่มเข้าไป 7 เดือนในแต่ละรอบ 19 ปี คำนวณตามสูตรที่รู้จักกันว่าวงรอบเมตอน (Metonic Cycle) แต่กติกาการบวกเดือนพิเศษของจีนนั้นไม่เหมือนของไทยที่จะบวกไปตอนเดือนแปดเสมอ ส่วนของจีนนั้น การใส่เดือนอธิกมาสจะใส่เพื่อให้วสันตวิษุวัต (Spring Equinox) อยู่ในเดือนที่ 2, ครีษมายัน (Summer Solstice) อยู่ในเดือนที่ 5, ศารทวิษุวัต (Autumn Equinox) และ เหมายัน (Winter Solstice) อยู่ในเดือนที่ 11 ทั้งนี้ จะไม่มีการบวกเดือนเพิ่มในเดือน 1, 11 และ 12
ความซับซ้อนของระบบปฏิทินดังกล่าวทำให้เกิดความผิดพลาดได้ไม่ยากนัก เช่นในยุคราชวงศ์ชิง มีการบวกเดือนเข้าไปอย่างผิดพลาดระหว่างปี ค.ศ. 1669-1813 จนต้องแก้ไขภายหลัง ไม่ต่างอะไรกับปฏิทินของไทยที่ยังมีความเห็นที่ไม่ลงตัวกันอยู่และเกิดข้อถกเถียงกันอยู่เสมอ
แม้ว่าวันขึ้นปีใหม่และการบอกเดือนของจีนจะเป็นระบบจันทรคติ แต่จีนก็มีระบบปฏิทินบอกฤดูกาลที่อ้างอิงสุริยคติด้วย โดยกำหนดตามจุดเปลี่ยนฤดูกาลสำคัญ 4 จุดนั่นคือ วสันตวิษุวัต (Spring Equinox), ครีษมายัน (Summer Solstice), ศารทวิษุวัต (Autumn Equinox) และ เหมายัน (Winter Solstice)
ปฏิทินระบบนี้ของจีนนั้นจะแบ่ง 1 ปีเป็น 24 ฤดูกาล (เจี๋ยชี่) แต่ละฤดูกาลก็มีระยะเวลาราว 15-16 วัน มีชื่อฤดูกาลทั้ง 24 ฤดูตามวงรอบเกษตรกรรม ถ้าเรามองในแง่มุมของโหราศาสตร์ตะวันตกแล้ว ถือว่ามีความเหมือนกันอย่างมาก เพียงแต่ของตะวันตกแบ่งเป็น 12 ราศี ส่วนของจีนแบ่งเป็น 24 ฤดู เราลองมาดูรายละเอียดกัน
ลำดับที่ |
ชื่อฤดู |
ความหมาย |
ตำแหน่งอาทิตย์ในจักรราศีตะวันตก |
วันที่โดยประมาณ |
1 |
ลี่ชุน |
เริ่มต้นฤดูใบไม้ผลิ |
กลางราศีกุมภ์ |
4 ก.พ. |
2 |
หยี่ส่วย |
ฝนเริ่มตก |
ยกเข้าราศีมีน |
19 ก.พ. |
3 |
จิงเจ๋อ |
สัตว์ตื่นตัวจากจำศีลหน้าหนาว |
กลางราศีมีน |
6 มี.ค. |
4 |
ชุนเฟิน |
วสันตวิษุวัต (กลางวันกลางคืนนานเท่ากัน) |
ยกเข้าราศีเมษ |
21 มี.ค. |
5 |
ชิงหมิง |
ปลอดโปร่ง แจ่มใส |
กลางราศีเมษ |
5 เม.ย. |
6 |
กู่หยู่ |
ฝนช่วยให้ธัญญาหารเติบโต |
ยกเข้าราศีพฤษภ |
20 เม.ย. |
7 |
ลี่เซี่ย |
เริ่มต้นฤดูร้อน |
กลางราศีพฤษภ |
6 พ.ค. |
8 |
เสี่ยวหม่าน |
ธัญญาหารแตกหน่อ |
ยกเข้าราศีมิถุน |
21 พ.ค. |
9 |
หมังจ้ง |
ข้าวสาลีเริ่มสุก |
กลางราศีมิถุน |
7 มิ.ย. |
10 |
เซี่ยจือ |
ครีษมายัน (อาทิตย์ปัดเหนือสุด) |
ยกเข้าราศีกรกฎ |
21 มิ.ย. |
11 |
เสียวซู่ |
เริ่มร้อน |
กลางราศีกรกฎ |
8 ก.ค. |
12 |
ต้าซู่ |
ร้อนมาก |
ยกเข้าราศีสิงห์ |
22 ก.ค. |
13 |
ลี่ชิว |
เริ่มฤดูใบไม้ร่วง |
กลางราศีสิงห์ |
8 ส.ค. |
14 |
ฉู้ซู่ |
หยุดร้อน |
ยกเข้าราศีกันย์ |
23 ส.ค. |
15 |
ไป๋ลู่ |
เริ่มเย็น เริ่มมีน้ำค้างจับ |
กลางราศีกันย์ |
8 ก.ย. |
16 |
ชิวเฟิน |
ศารทวิษุวัต (กลางวันกลางคืนยาวเท่ากัน) |
ยกเข้าราศีตุล |
23 ก.ย. |
17 |
หันลู่ |
น้ำค้างเย็นมาก |
กลางราศีตุล |
9 ต.ค. |
18 |
ซวงเจี้ยง |
เกิดน้ำค้างแข็ง |
ยกเข้าราศีพิจิก |
23 ต.ค. |
19 |
ลี่ตง |
เริ่มฤดูหนาว |
กลางราศีพิจิก |
8 พ.ย. |
20 |
เสี่ยวเสว่ |
เริ่มมีหิมะตก |
ยกเข้าราศีธนู |
22 พ.ย. |
21 |
ต้าเสว่ |
หิมะตกหนัก |
กลางราศีธนู |
7 ธ.ค. |
22 |
ตงจือ |
เหมายัน (อาทิตย์ปัดใต้สุด) |
ยกเข้าราศีมกร |
22 ธ.ค. |
23 |
เสี่ยวหัน |
เริ่มหนาวจัด |
กลางราศีมกร |
6 ม.ค. |
24 |
ต้าหัน |
หนาวจัด |
ยกเข้าราศีกุมภ์ |
20 ม.ค. |
ฤดูกาลแรกที่เรียกว่า ลี่ชุน (เริ่มต้นฤดูใบไม้ผลิ) นั้น อยู่ราววันที่ 4 ก.พ. ของทุกปี อาจก่อนหรือหลังหรือตรงกับวันตรุษจีนก็ได้ เพราะวันตรุษจีนต้องเป็นวันอมาวสี (New Moon) ในหนังสือของ Walters บอกไว้ว่า หากปีไหนวันตรุษจีนมาก่อนลี่ชุน ถือว่าเป็นปีที่ดี ส่วนปีไหน วันตรุษจีนมาหลังลี่ชุนก็ถือว่าเป็นปีไม่ดี เช่น ปีนี้ 2011 วันตรุษจีนตรงกับวันที่ 3 กุมภาพันธ์ มาก่อนลี่ชุน จึงเป็นปีที่ดี
ส่วนฤดูที่ 5 เรียกว่า ชิงหมิง ซึ่งก็คือเทศกาลเช็งเม้งนั่นเอง (ใกล้เคียงกับวันอีสเตอร์ของทางตะวันตก) ตามประเพณีจีน ก็เป็นช่วงเวลาที่ลูกหลานต้องไปทำความสะอาดและทำพิธีบวงสรวงบูชาที่สุสานของบรรพบุรุษ ซึ่งก็เป็นช่วงเวลาที่เหมาะสมเพราะผ่านพ้นฤดูหนาวไปแล้ว เข้าสู่ฤดูใบไม้ผลิ การเดินทางไปยังสุสานที่มักอยู่นอกเมืองไป ก็จะสะดวกเหมาะสมกับช่วงเวลา
การแบ่งฤดูกาลเป็น 24 ฤดูดังกล่าวนี้มีความคล้ายคลึงมากกับจักรราศีที่ใช้ในโหราศาสตร์ตะวันตก หรือที่เรียกให้ถูกต้องตามหลักวิชาก็คือ จักรราศีระบบสายนะ (Tropical Zodiac) ต่างกันเพียงแต่ของจีนแบ่งให้ถี่กว่าอีกเท่าตัวนั่นเอง หากเราจะนำหลักการของโหราศาสตร์ตะวันตกมาประกบกับปฏิทินระบบนี้อีกก็ได้ เพราะในโหราศาสตร์สากล จักรราศีแบ่งเป็น 12 ราศี หากเราแบ่งราศีเป็น 2 ส่วนเท่ากัน ส่วนละ 15 องศา เราสามารถให้ความหมายที่ลึกลงไปในราศีนั้นได้อีก ก็คือ 15 องศาแรกมีลีลาแบบรุก (Active) ส่วน 15 องศาหลังมีลีลาแบบรับ (Passive) ซึ่งก็จะได้ 24 ส่วนตรงกับ 24 ฤดูกาลนั่นเอง
จากข้อมูลปฏิทินจีน 24 ฤดูกาลดังกล่าวจะเห็นว่าเป็นการวางระบบปฏิทินให้สอดคล้องกับดินฟ้าอากาศตามธรรมชาติ เช่นเดียวกับโหราศาสตร์ที่มาจากการสังเกตปรัชญาของธรรมชาติ แล้วนำมาปรับใช้ในชีวิตมนุษย์ โดยให้มนุษย์เราเรียนรู้ที่จะใช้ชีวิตให้สอดคล้องกับจังหวะแห่งธรรมชาตินั่นเอง