โดย Pallas
พฤษภาคม 2553
หลังจากรอคอยมานานกว่า 6 ปี แดน บราวน์ นักเขียนชื่อดัง ผู้ประพันธ์นวนิยายเรื่อง รหัสลับดาวินชี (The Davinci Code) ก็ได้ส่งนวนิยายภาคต่อว่าด้วยการผจญภัยของโรเบิร์ต แลงดอนออกมาวางแผงเมื่อ 15 ก.ย. 2009 และก็สร้างปรากฏการณ์อีกครั้งด้วยยอดพิมพ์ครั้งแรก 6.5 ล้านเล่ม เฉพาะวันแรกที่วางแผงสามารถขายได้ 1 ล้านเล่มทั้งในรูปของหนังสือเล่มและอีบุ๊ค ส่วนฉบับภาษาไทยนั้น ทางแพรวสำนักพิมพ์ได้วางแผงเมื่อมีนาคม 2553 โดยใช้ชื่อว่า สาส์นลับที่สาบสูญ แปลโดยคุณอรดี สุวรรณโกมล และก็ติดอันดับหนังสือขายดีทันที โดยเฉพาะในช่วงสัปดาห์หนังสือที่ผ่านมา
ในภาคสาส์นลับที่สาบสูญ (The Lost Symbol) นี้ โรเบิร์ต แลงดอน กลับมาผจญภัยในกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. เมืองหลวงของสหรัฐอเมริกา โดยไม่ต้องไประหกระเหินในทวียุโรปอย่างที่ผ่านมาทั้งสองภาค การผจญภัยครั้งนี้ของศาสตราจารย์แลงดอนกินเวลาเพียง 12 ชั่วโมง แต่มีความยาว 622 หน้า (ฉบับภาษาอังกฤษ UK Edition ยาว 509 หน้า) เรื่องราวสนุกสนานทำให้ผมอ่านรวดเดียวจบ แม้ว่าจะสนุกน้อยกว่า รหัสลับดาวินชี
เรื่องราวในภาคนี้มุ่งเน้นไปที่สมาคมฟรีเมสัน สมาคมลับที่โด่งดัง โดยเฉพาะบรรดาผู้ก่อตั้งประเทศ (Founding Fathers) สหรัฐอเมริกา ที่เป็นสมาชิกเมสันอย่างน้อย 9 คน เช่น จอร์จ วอชิงตัน, เบนจามิน แฟรงคลิน, จอห์น แฮนค็อค เป็นต้น ฟรีเมสันเป็นกลุ่มภราดรภาพที่มีแนวคิดเกี่ยวกับความรักฉันท์พี่น้อง การสงเคราะห์ช่วยเหลือ และการมุ่งมั่นหาความจริง ต้นกำเนิดของสมาคมนี้ว่ากันว่ามาจากอัศวินเทมพลาร์ (Knights Templar) ผู้ค้นพบความลับของวิหารโซโลมอนระหว่างสงครามครูเสด ความลับเหล่านี้ได้กลายเป็นตำนานของเหล่าช่างฝีมือระดับสูง เช่น เซอร์ไอแซค นิวตัน ที่เคยร่างภาพวิหารโซโลมอน ฯลฯ ความรู้เกี่ยวกับงานช่างเหล่านี้สะท้อนให้เห็นจากสัญลักษณ์ของฟรีเมสันที่เป็นไม้ฉากกับวงเวียน ดังนั้น บรรดาเหล่าเมสันจึงถ่ายทอดแนวคิดและสัญลักษณ์ของสมาคมผ่านงานสถาปัตยกรรมและงานออกแบบสำคัญๆ แดน บราวน์จึงนำประเด็นเหล่านี้มาเป็นพล็อตเรื่องในนิยายสาส์นลับที่สาบสูญ
ระหว่างที่อ่านนวนิยายเรื่องนี้ ผมก็พบว่า แดน บราวน์ ได้กล่าวถึงโหราศาสตร์อยู่เป็นระยะ เพราะเป็นศาสตร์หนึ่งในบรรดาศาสตร์ต่างๆที่เหล่าเมสันให้ความสำคัญ ในฐานะนักโหราศาสตร์ ผมจึงคิดว่าน่าจะหยิบยกประเด็นที่เกี่ยวกับโหราศาสตร์ในนวนิยายเล่มนี้ออกมาอธิบายความให้ชัดเจน ดังนี้ (การอ้างอิงหน้าของหนังสือ ผมใช้ตามฉบับแปลภาษาไทย)
ประเด็นที่ 1: ฤกษ์วางศิลาฤกษ์สามเหลี่ยมรัฐบาลกลาง
ในบทที่ 6 หน้า 37 แลงดอนได้บรรยายให้นักศึกษาฟังโดยฉายสไลด์ภาพจิตรกรรมฝาผนังที่จอร์จ วอชิงตัน กำลังวางศิลาฤกษ์ (Cornerstone) อาคารแคปิตอล เมื่อ 18 กันยายน 1793 โดยแลงดอนบอกว่าเวลาฤกษ์อยู่ระหว่าง 11:15 12:30 น.
แดน บราวน์ เขียนว่า คนเลือกฤกษ์นี้ คือ จอร์จ วอชิงตัน (ประธานาธิบดีคนแรกของสหรัฐฯ), เบนจามิน แฟรงกลิน และปีแยร์ ลองฟอง (สถาปนิกผู้ออกแบบสร้างวอชิงตัน ดี.ซี.) ในนิยายฉบับภาษาไทย ผู้แปลแปลว่า เนื่องมาจากพระจันทร์สถิตอยู่ในราศีกันย์ ซึ่งเป็นฤกษ์มงคล อย่างไรก็ตามเมื่อผมไปอ่านฉบับภาษาอังกฤษ กลับพบว่า แดนบราวน์ไม่ได้บอกว่า เป็นเพราะจันทร์สถิตราศีกันย์ แต่เพราะราหู (Caput Draconis) สถิตราศีกันย์ต่างหาก ตรงนี้เป็นความผิดพลาดในการแปลเป็นภาษาไทย ที่ดันแปล Caput Draconis เป็นจันทร์ ทั้งที่จริงแล้วเป็นราหู เพราะ Caput แปลว่า หัว ส่วน Draconis แปลว่า มังกร รวมกันคือ หัวมังกร หรือภาษาอังกฤษเรียกว่า Dragons Head ซึ่งหมายถึงราหูในโหราศาสตร์ ซึ่งเป็นจุดตัดระหว่างวงโคจรของดวงจันทร์กับระนาบรวิมรรค (ส่วนหางมังกร หรือ Dragons Tail หรือ Cauda Draconis คือจุดตรงข้ามของราหูบนจักรราศี หรือเรียกว่า เกตุสากล ที่มีความหมายไม่เหมือนกับเกตุในโหราศาสตร์ไทย)
นอกจากนี้ แดน บราวน์ ยังเขียนไว้อีกว่า ..ศิลาฤกษ์ของสิ่งก่อสร้างสามแห่งที่ประกอบกันเป็นสามเหลี่ยมรัฐบาลกลาง คือ อาคารแคปิตอล ทำเนียบขาว อนุสาวรีย์วอชิงตัน ทั้งหมดวางต่างกันแห่งละปี แต่ถูกกำหนดเวลาอย่างตั้งอกตั้งใจให้เกิดขึ้นภายใต้ปัจจัยทางโหราศาสตร์เดียวกัน พอดิบพอดี..
เนื้อหาตอนนี้เข้าใจว่า แดน บราวน์ ผู้เขียนได้นำข้อมูลจากหนังสือ The Secret Architecture of Our Nation's Capital: The Masons and the Building of Washington, D.C. เขียนโดย David Ovason แต่ แดน บราวน์ คงอ่านไม่ทะลุหรือเข้าใจผิดอย่างไรไม่ทราบ กลับอ้างว่า ฤกษ์ทั้ง 3 แห่งวางราหู (Caput Draconis) ไว้ที่ราศีกันย์ ที่ผมว่าอย่างนั้น เพราะราหูอยู่ในราศีใดราศีหนึ่งจะใช้เวลาประมาณ 18 เดือน โหรผู้วางฤกษ์จึงไม่ให้ความสำคัญกับราหูเป็นปัจจัยหลักเพราะราหูโคจรช้ามาก ลองคิดดูว่า อาคารกำลังจะเริ่มสร้างแล้ว แต่โหรบอกว่าให้เราไปอีก 18 เดือนให้ราหูย้ายราศีก่อน หรือจะตลกมากถ้าต้องรอไปอีก 18 ปีเพื่อให้ราหูโคจรกลับมายังราศีที่ต้องการ แต่จะเข้าใจผิดอย่างไร เราลองมาฤกษ์วางศิลาฤกษ์ของทั้ง 3 แห่งกันเสียก่อน
1) ฤกษ์อาคารแคปิตอล 18 กันยายน 1793
ในฤกษ์นี้ อาทิตย์อยู่ราศีกันย์ จันทร์อยู่ราศีมีน เล็งสนิทองศากับดาวพุธที่อยู่ในราศีกันย์และเป็นดาวเกษตรประจำราศีกันย์อีกด้วย รวมถึงราหูก็อยู่ราศีกันย์ เห็นได้ชัดว่า ราศีกันย์เป็นราศีเด่นของฤกษ์นี้ ถ้าให้สันนิษฐานถึงเจตนาของผู้วางฤกษ์ก็น่าจะมาจากอาคารแคปิตอลคืออาคารรัฐสภา อาคารที่ใช้อำนาจนิติบัญญัติ เป็นที่อภิปรายแสดงความเห็นของผู้แทนราษฎรและวุฒิสมาชิก การวางให้ดาวพุธ ซึ่งเป็นดาวเกี่ยวกับการคิด การพูด การสื่อสาร มาอยู่ในราศีกันย์ ราศีแห่งการคิดวิเคราะห์ ความรอบคอบ ทำให้เกิดกำลังของดาวในฐานะดาวเกษตร อีกทั้งให้ความสำคัญด้วยการให้จันทร์มาเล็งกับพุธ ส่งผลให้อาคารแห่งนี้เป็นสถานที่มีการพูดคุยแลกเปลี่ยนถกเถียงแสดงความคิดเห็นด้วยการใช้เหตุผล ใช้ความละเอียดถี่ถ้วน อันเป็นรากฐานสำคัญของประเทศ
จุดเด่นอีกข้อในดวงนี้คือ ดาวเสาร์ในราศีพฤษภ เป็นเสาร์สันโดษ คืออยู่ห่างจากดาวอื่นๆมาก เข้าใจว่า ผู้วางฤกษ์ต้องการให้ผู้ที่ทำงานที่นี่ต้องทำงานอย่างหนัก (ไม่สามารถทำงานเช้าชามเย็นชามได้อย่างข้าราชการและนักการเมืองบางประเทศ) ตามลักษณะของเสาร์ เพราะเป็นการทำหน้าที่รับใช้ประเทศชาติ
2) ฤกษ์ทำเนียบขาว 13 ตุลาคม 1792
ในฤกษ์นี้ อาทิตย์อยู่ราศีตุล จันทร์อยู่ในราศีกันย์ ร่วมราศีกับราหู ในแง่การทำมุมนั้น จันทร์ทำมุม 45 องศากับศุกร์ ส่วนราหูทำมุม 45 องศากับดาวพฤหัส ทำเนียบขาวนี้เป็นสถานที่ทำงานและบ้านของประธานาธิบดี ประมุขของประเทศ และหัวหน้าฝ่ายบริหาร ก็ต้องดูว่าวางตำแหน่งอาทิตย์ที่แปลว่าผู้นำไว้อย่างไร ปรากฏว่า อาทิตย์อยู่ราศีตุล ราศีแห่งความสมดุล การประสานประโยชน์ ผู้วางฤกษ์คงอยากให้ประธานาธิบดีเป็นผู้สร้างสมดุลระหว่างอำนาจต่างๆในประเทศที่เพิ่งจะก่อตั้งในเวลานั้น ข้อสังเกตอีกอย่างคืออาทิตย์ตรีโกณสนิทกับดาวพลูโต ดาวแห่งการปฏิรูป ซึ่งเหมาะกับผู้นำการเปลี่ยนแปลงในประเทศเกิดใหม่ อย่างไรก็ตาม ณ เวลานั้น ดาวพลูโตยังไม่ได้รับการค้นพบ ผู้วางฤกษ์จึงคงไม่ได้คิดถึงประเด็นนี้
อย่างไรก็ตาม การที่มีจันทร์และราหูอยู่ในราศีกันย์ ก็ทำให้ราศีกันย์โดดเด่นเช่นกัน คาดว่าผู้วางฤกษ์ต้องการให้ประธานาธิบดีเป็นผู้รับใช้ประชาชน เพราะราศีกันย์หมายถึงการให้บริการ การรับใช้ ส่วนจันทร์แปลว่าประชาชนนั่นเอง นอกจากนี้ จันทร์ยังทำมุม 45 องศากับศุกร์ ก็หมายถึงการทำให้ประชาชนมีความสุขอีกด้วย นอกจากนี้การที่จันทร์โยคหลังอาทิตย์บ่งบอกว่า ประชาชนสนับสนุนประธานาธิบดี และในขณะเดียวกัน ประธานาธิบดีก็ต้องทำงานตามความต้องการของประชาชนอีกด้วย
ดวงฤกษ์นี้ก็วางให้ดาวเสาร์เป็นดาวสันโดษที่ปลายราศีเมษเช่นเดียวกับดวงฤกษ์อาคารแคปิตอล ก็หมายความว่า ต้องการให้ประธานาธิบดีและเจ้าหน้าที่ที่ทำงานในทำเนียบขาวต้องรับภาระมาก ทำงานอย่างหนัก เพื่อรับใช้ประเทศชาตินั่นเอง
3) ฤกษ์อนุสาวรีย์วอชิงตัน (4 กรกฎาคม 1848)
ฤกษ์นี้ อาทิตย์อยู่ราศีกรกฎ ตรงกับวันก่อตั้งประเทศสหรัฐอเมริกาพอดี จันทร์อยู่ราศีกันย์ ราหูก็อยู่ราศีกันย์ แม้ว่าในแง่การทำมุมนั้น จันทร์เล็งกับเนปจูน (ตอนนั้นยังไม่มีการนำดาวเนปจูนมาใช้ในโหราศาสตร์ โหรที่วางฤกษ์จึงไม่ทราบประเด็นนี้) และราหูก็เล็งกับเสาร์ ดูเหมือนจะไม่ดีนัก อย่างไรก็ตาม อนุสาวรีย์วอชิงตันนั้นเป็นสัญลักษณ์ของประเทศ ไม่ได้เป็นสถานที่ทำงานของใคร ดังนั้น การวางฤกษ์ให้อาทิตย์ตรงกับวันก่อตั้งประเทศ จึงเป็นการสื่อว่านี่คือสัญลักษณ์ของประเทศ และเพื่อให้เกิดความมั่งคงถาวร ก็วางให้จันทร์กับราหูอยู่ราศีกันย์ เพราะเป็นราศีธาตุดินหมายถึงความมั่นคง นอกจากนี้ ราศีกันย์ยังเป็นราศีแห่งความอุดมสมบูรณ์อีกด้วย การที่ดาวเสาร์ตรีโกณกับดาวพฤหัส ก็หมายถึง เป็นสิ่งก่อสร้าง (เสาร์) ที่นำมาซึ่งความสำเร็จ (พฤหัส) ของประเทศ
หลังจากตรวจสอบดวงชะตาฤกษ์ทั้งสามดวง ผมพบว่า ราศีกันย์เป็นราศีที่ผู้วางฤกษ์ให้ความสำคัญตามที่ Ovason ตั้งข้อสังเกตไว้ แต่คงไม่ใช่ด้วยการวางฤกษ์ให้ราหูอยู่ราศีกันย์เหมือนที่แดน บราวน์บอก แต่ด้วยการวางอาทิตย์หรือจันทร์หรือดาวพุธไว้ในราศีกันย์ เพื่อให้สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ของอาคารที่วางศิลาฤกษ์นั้นนั่นเอง
ประเด็นที่ 2: As Above, So Below และเฮอร์เมส ทริสเมจิตุส
ในนิยายเล่มนี้ มีการอ้างถึงปรัชญามูลฐานของโหราศาสตร์ As Above, So Below ไว้อย่างน้อย 2 แห่ง คือในบทที่ 9 และบทที่ 82 แดน บราวน์ เขียนไว้ว่า เป็นภาษิตเฮอร์เมทิกโบราณซึ่งประกาศอ้างความเชื่อในความเกี่ยวข้องกันทางกายภาพระหว่างสวรรค์และพื้นโลก โดยผู้แปลแปลว่า อยู่เหนือ ดังอยู่ใต้ สำหรับนักโหราศาสตร์บ้านเรามักแปลกันว่า เบื้องบนเป็นอย่างไร เบื้องล่างเป็นอย่างนั้น
ปรัชญา As Above, So Below นี้ เป็นปรัชญาของท่านเฮอร์เมส ทริสเมจิตุส โหราจารย์เมื่อกว่า 3,500 ปีก่อน ในนิยายสาส์นลับที่สาบสูญ แดน บราวน์เขียนถึง เฮอร์เมส ทริสเมจิตุส ไว้ในบทที่ 15 ตอนที่ตัวละครพูดถึง หนังสือยุคโบราณที่สนใจอ่าน ทั้งปโตเลมี พีทาโกรัส และเฮอร์เมส ทริสเมจิตุส ตรงนี้ผมขอเล่าเรื่องราวเฉพาะท่านเฮอร์เมสก่อน ดังนี้ เฮอร์เมส ทริสเมจิตุส เป็นภาษากรีก มาจากการสนธิเทพเจ้าของกรีก คือ เฮอร์เมส และเทพเจ้าของอียิปต์คือ Thoth เข้าด้วยกัน โดยเทพเจ้าทั้งสองต่างก็เป็นเทพเจ้าแห่งการสื่อสารและความรู้ ดังนั้น ชื่อนี้จึงให้ความหมายในเชิงผู้ทรงภูมิปัญญา ประวัติของเฮอร์เมส ทริสเมจิตุสนั้นมีหลายตำนาน บ้างว่าเป็นบุตรของเทพเจ้า บ้างว่าเป็นนักบวชและนักปราชญ์สำคัญชาวอียิปต์ร่วมสมัยกับโมเสส โดยเป็นผู้สั่งสอนให้ความรู้แก่คนทั้งหลาย คำสอนของเฮอร์เมส ทริสเมจิตุสเป็นรากฐานการก่อกำเนิดปรัชญาสำนักเฮอร์เมติค ซึ่งคำสอนสำนักนี้มีอิทธิพลต่อศาสตร์สำคัญต่างๆ อย่างน้อย 3 ศาสตร์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุคกลาง ได้แก่ โหราศาสตร์ (Astrology), การเล่นแร่แปรธาตุ หรือ รสายนเวท (Alchemy) และ พิธีกรรมศักดิ์สิทธิ์ (Theurgy)
As Above, So Below สามารถนำไปตีความหมายได้อย่างกว้างขวางในหลายๆศาสตร์ที่เกี่ยวข้อง ในทางโหราศาสตร์นำมาตีความว่า ปัจจัยต่างๆบนท้องฟ้ามีความสอดคล้องกับความเป็นไปของสิ่งต่างๆบนโลกมนุษย์ หากเราจะทำความเข้าใจปรัชญาให้ลึกซึ้งขึ้น ก็ต้องเรียนรู้ว่า ปรัชญาสำนักนี้เชื่อว่า ในจักรวาลนี้ไม่มีสิ่งใดเป็นอิสระ แต่มีความเชื่อมโยงทางธรรมชาติของอาตมัน (Microcosm) และปรมาตมัน (Macrocosm) อาตมันคือสิ่งที่เล็กกว่า หรือสิ่งที่อยู่เบื้องล่าง ส่วนปรมาตมันคือสิ่งที่ใหญ่กว่าหรือสิ่งที่อยู่เบื้องบน หากเราต้องการทราบความเป็นไปของอาตมัน เราก็สามารถอนุมานได้จากความเป็นไปของปรมาตมัน เช่น ประเทศเป็นปรมาตมัน ประชาชนในประเทศเป็นอาตมัน หากประเทศเกิดเหตุการณ์ใหญ่ที่ส่งผลกระทบโดยรวม เราก็พอจะคาดการณ์ได้ว่าประชาชนในประเทศนั้นจะได้รับผลกระทบอย่างไร โหราศาสตร์จึงนำแนวคิดดังกล่าวมาเชื่อมโยงความสัมพันธ์ของปัจจัยต่างๆบนฟ้ามาคาดการณ์ความเป็นไปของคนบนโลก นั่นหมายความว่า ปัจจัยบนท้องฟ้าคือปรมาตมัน คนบนโลกคืออาตมันนั่นเอง
ตัวอย่างการนำปรัชญานี้ไปใช้งานในโหราศาสตร์เบื้องต้น ก็คือ ดวงอาทิตย์ เราทราบดีว่า อาทิตย์เป็นแหล่งพลังงานสำคัญสำหรับสิ่งมีชีวิตบนโลก ให้ความร้อน ให้แสงสว่าง สร้างชีวิตชีวา ในสายตามนุษย์บนโลกแล้ว อาทิตย์เป็นดาวที่ใหญ่ที่สุด ดังนั้น เราจึงให้ความหมายของอาทิตย์แทน ร่างกาย บุคคลเพศชาย บิดา กษัตริย์ ประมุข สามี ร่างกาย ยศศักดิ์ เป็นต้น บุคคลที่เกิดตอนกลางวัน ซึ่งอาทิตย์ลอยอยู่บนท้องฟ้า เราสามารถอนุมานได้ว่า เขาเป็นคนมีชีวิตชีวา มีบุคลิกภาพเชิงรุก แต่หากเกิดตอนกลางคืน ก็อนุมานได้ว่า มีบุคลิกภาพเชิงรับ นั่นเอง
นักโหราศาสตร์ผู้เชี่ยวชาญสามารถนำแนวคิดนี้ไปประยุกต์ใช้เพิ่มเติมได้หลายอย่าง โดยเฉพาะการแก้เคล็ดในช่วงที่ดวงไม่ดี เช่น หากดาวอังคารโคจรเล็งอาทิตย์กำเนิด อาจทำให้ป่วยไม่สบาย หรือเจอเรื่องวุ่นๆได้ นักโหราศาสตร์อาจแนะนำให้แก้ไขด้วยการใช้ความหมายเชิงปรัชญาอื่นของดาวอังคารเพื่อบรรเทาผลกระทบด้านร้ายของดาวได้ เช่น แนะนำให้ไปออกกำลังกายบ่อยๆ เพราะดาวอังคารหมายถึงการออกกำลังอีกด้วย หรืออาจไปบริจาคโลหิต เพราะดาวอังคารหมายถึงของมีคมเช่นกัน การแก้เคล็ดแบบโหราศาสตร์เช่นนี้ไม่เกี่ยวข้องใดๆกับไสยศาสตร์หรือการสะเดาะเคราะห์แบบที่มักเป็นข่าวเลย
สำหรับผู้สนใจเรื่องราวเกี่ยวกับเฮอร์เมส ทริสเมจิตุส เพิ่มเติม ขอแนะนำให้อ่านบทความเรื่องจารึกมรกต: ที่มาของปรัชญามูลฐานแห่งโหราศาสตร์ ที่ผมเขียนเอาไว้ตั้งแต่สิงหาคม 2549 ในนั้นจะเป็นการแปลจารึกมรกตที่ว่ากันว่าเป็นคำสอนของท่านเฮอร์เมส ทริสเมจิตุส โดยผมแปลจากสำนวนแปลภาษาอังกฤษของเซอร์ไอแซค นิวตัน
เขียนมาถึงตอนนี้แล้วพบว่า บทความค่อนข้างยาวจึงขอจบตอนแรกของโหราศาสตร์ใน The Lost Symbol ไว้ตรงนี้ก่อน ตอนต่อไปจะเป็นการวิเคราะห์ประเด็นอื่นๆในนิยายเล่มนี้ที่เกี่ยวกับโหราศาสตร์มาเล่าสู่กันฟังต่อไป
เอกสารอ้างอิง
1. พล.ต.ประยูร พลอารีย์, อารัมภบทโหราศาสตร์ บทเรียนวิชาโหราศาสตร์ ตอนที่ 1, โรงเรียนโหราศาสตร์กรุงเทพ
2. http://www.thaifreemason.com
3. http://en.wikipedia.org
4. http://www.freemasonry.bcy.ca/anti-masonry/washington_dc/ovason.html