จริงๆแล้ว คนที่ไปดูพิพิธภัณฑ์นี้ส่วนใหญ่เขาจะไปดูมัมมี่และหีบศพของอียิปต์โบราณกันครับ คงมีคนอย่างผมไม่กี่คนที่เข้าไปพิพิธภัณฑ์อียิปต์เพื่อไปดูโบราณวัตถุเรื่องดาราศาสตร์และโหราศาสตร์ซึ่งส่วนใหญ่เป็นของเมโสโปเตเมียเสียด้วย (ไม่ใช่อียิปต์ดังชื่อของพิพิธภัณฑ์)
ตอนที่ผมไปถึงก็ 4 โมงเย็นแล้ว พิพิธภัณฑ์เขาปิด 5 โมงเย็น (มัวแต่ไปเที่ยวบ้านผีสิง Winchester Mystery House ที่อยู่ในเมืองเดียวกันอยู่ตั้ง 2-3 ชั่วโมง) เจ้าหน้าที่ที่พิพิธภัณฑ์เขาแนะนำว่าให้ไปดูมัมมี่ตรงจุดนั้นจุดนี้ แต่ผมไม่สนใจ รีบเดินไปหา Stars & Planets Tablet แต่ก็หาไม่เจอ เดินไปถามเจ้าหน้าที่ ตอนแรกเขาก็หาไม่เจอ เขาบอกว่าไม่เคยมีคนมาถามหาชิ้นนี้มาก่อน ซักพักใหญ่เขาก็เดินมาบอกว่าเจอแล้ว ผมจึงได้ไปดูและถ่ายรูปมาตามที่ post ไว้ข้างบนครับ
โบราณวัตถุชิ้นอื่นๆที่เกี่ยวข้องหรืออนุโลมว่าเกี่ยวข้องกับโหราศาสตร์ ก็มีอยู่ไม่กี่ชิ้นครับ อย่างแรกคงเป็น จักรราศีแห่งเมืองเดนเดอรา (Horoscope at Dendera Temple) ซึ่งของจริงอยู่ที่พิพิธภัณฑ์ลูฟร์ กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส จักรราศีนี้ค้นพบอยู่ในวิหาร Hathor ในเมืองเดนเดอรา ของอียิปต์ ซึ่งคาดว่าสร้างขึ้นระหว่างปี 4,000 - 50 ปีก่อนค.ศ. เป็นการแบ่งจักรราศีออกเป็น 12 ราศี, ดวงเคราะห์ พุธ ศุกร์ อังคาร พฤหัส เสาร์, รวมถึงดวงจันทร์, กลุ่มดาวฤกษ์ Sirius, Orion, Draco, Ursa Minor, และ Ursa Major, แบ่งจักรราศีเป็น 36 ตรียางศ์ (Decan) และข้อมูลดาราศาสตร์อีกมากมาย รูปที่ผมถ่ายมาก็ไม่ชัดเช่นเคยครับ
ชิ้นต่อมาคือ รูปปั้นเทพี Ishtar เทพีแห่งความรักของชาวบาบิโลเนีย สำหรับชาวยิวคือ เทพี Ashtoreth, สำหรับชาวเปอร์เซียคือเทพี Anaitis, สำหรับชาวกรีกคือเทพี Aphrodite และเทพี Demeter, สำหรับชาวโรมันคือ เทพี Venus หรือดาวศุกร์ที่เราใช้กันในโหราศาสตร์ เทพี Ishtar เป็นเทพีสำคัญอย่างยิ่งของชาวบาบิโลเนีย ถือว่าเป็น ราชินีแห่งสวรรค์และดวงดาว เป็นผู้ควบคุมชีวิตของสัตว์และพืช รูปที่ผมถ่ายมามี 2 ภาพ ภาพแรกเป็นรูปปั้นเทพี Ishtar ของจริงที่อยู่ในพิพิธภัณฑ์ สร้างขึ้นราว 2,500 ปีก่อนค.ศ. ส่วนอีกรูปเป็นรูปจำลองที่พิพิธภัณฑ์สร้างขึ้น แต่ไม่ได้บอกว่ารูปจริงอยู่ที่ไหน
ชิ้นอื่นๆ ผมคิดว่าไม่ได้จะเกี่ยวกับโหราศาสตร์เท่าไหร่ เช่น Rosetta Stone จำลอง ซึ่งเป็นจารึกที่ทำให้นักวิชาการสามารถเข้าใจความหมายของอักษรอียิปต์โบราณได้ เป็นต้น
ท่านใดสนใจเรื่องโบราณคดีกับโหราศาสตร์ เชิญร่วมแสดงความเห็นหรือให้ความรู้เพิ่มเติม ก็จะยินดีมากเลยครับ |