วิโรจน์ กรดนิยมชัย
15 กุมภาพันธ์ 2553
ท่ามกลางสถานการณ์ของสังคมไทยที่เต็มไปด้วยสงครามข่าวสาร ทำให้มีคำถามในวงสนทนาทั้งประชาชนทั่วไป และในหมู่นักโหราศาสตร์ว่า ปี 2553 ประเทศไทยจะผ่านพ้นวิกฤติไปได้หรือไม่ และจะเดินไปในทิศทางใด ในฐานะของนักโหราศาสตร์ที่ติดตามเรื่องโหราศาสตร์การเมืองมานาน ผมได้ค้นหารูปแบบ (Model) หลายรูปแบบจากเหตุการณ์ที่เคยเกิดขึ้นในอดีตในช่วงที่เกิดวิกฤติหลายๆครั้ง เพื่อนำมาเปรียบเทียบกับหลักปรัชญา อดีต ปัจจุบัน และอนาคต ล้วนเป็นสิ่งเดียวกัน เพื่อค้นหาคำตอบว่า ที่สุดแล้ว คนไทย และประเทศไทยปี 2553 นี้จะก้าวพ้นสถานการณ์เหล่านี้ไปในทิศทางใด
โดยหลักการแล้ว เหตุการณ์ที่จะเกิดขึ้นซ้ำได้นั้นจะต้องเกิดขึ้นภายใต้เงื่อนไขและหลักทฤษฎีทางโหราศาสตร์ ประกอบด้วย
1. วงรอบโหราศาสตร์ที่นำมาใช้พิจารณา ซึ่งจะมีหลายชนิดวงรอบ ดังเช่น
1.1 วงรอบเมโทนิก 19 ปี
1.2 วงรอบการโคจร 30 ปี ของดาวเสาร์ (บางครั้งใช้ครึ่งวงรอบ 15 ปี)
1.3 วงรอบสุริยคติ 28 ปี
1.4 วงรอบปรากฏของการเกิดคราส หรืออุปราคา ( Saros Cycle) 18 ปี 11 วัน 8 ชั่วโมง
1.5 วงรอบเศรษฐกิจ 20 ปีการโคจรทับองศากันของดาวพฤหัสและดาวเสาร์
และวงรอบอื่นๆ
2. เงื่อนไขของสถานการณ์ สภาพแวดล้อม และสาเหตุ (Root Cause) แห่งปัญหาที่เหมือนเดิม
3. ดวงชะตาประเทศประจำปี (ดวงสงกรานต์สากล) ที่จะต้องพิจารณาว่ามีปัจจัยที่แสดงความหมายได้ว่าในปีนั้นๆจะเกิดเหตุการณ์ใดๆ
การนำเหตุการณ์ใดๆมาพิจารณาจะต้องพิจารณาทั้ง 3 เงื่อนไขร่วมกัน เพื่อหาคำตอบว่า ข้อสรุปของเหตุการณ์จะเป็นไปในทิศทางใด ประการสำคัญ คือ ดวงประจำปี จะต้องมีสิ่งบอกเหตุว่า สุดท้ายแล้ว จะเกิดอะไรขึ้นในปีนั้นๆ จะขอยกตัวอย่างเหตุการณ์ กรณี 14 ตุลาคม 2516 ซึ่งได้มีประชาชนบางส่วนคิดว่าน่าจะมีความใกล้เคียงกับสถานการณ์ในปัจจุบัน ซึ่งในทัศนทางโหราศาสตร์แล้ว เป็นคนละเรื่องกันโดยสิ้นเชิง
ตัวอย่างเหตุการณ์ตามวงรอบเมโทนิก 19 ปี
เหตุการณ์ตามวงรอบเมโทนิก 19 ปีที่คลาสสิคที่สุดได้แก่ กรณี 14 ตุลาคม 2516 และ เหตุการณ์ พฤษภาคม 2535 ที่มีการชุมนุมของประชาชนต่อสู้กับทหารจนเป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิต และสูญหายเป็นจำนวนมาก ตลอดจนความเสียหายของทรัพย์สินทั้งของทางราชการและเอกชน ทั้ง 2 เหตุการณ์เกิดขึ้นในระยะห่างกัน ประมาณ 19 ปีโดยประมาณ ภายใต้เงื่อนไขของสถานการณ์ สภาพแวดล้อม และสาเหตุแห่งปัญหาที่เหมือนหรือใกล้เคียงกัน
1. เป็นการต่อสู้ระหว่างประชาชน และทหาร โดยมีข้อเรียกร้องเกี่ยวกับรัฐธรรมนูญ
2. เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นบนถนนราชดำเนิน และสถานที่ที่เกี่ยวข้องของทั้ง 2 เหตุการณ์ มีสภาพเดียวกัน คือ ถูกเผา ได้แก่ สถานีตำรวจนครบาลนางเลิ้ง และกรมสรรพากร ข้างสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล
ซึ่งหลังจากเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 สถานที่ต่างๆได้รับการซ่อมแซมและถูกใช้งานดังเดิม และเมื่อเกิดเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 สถานที่เหล่านี้ก็ถูกเผา และซ่อมแซมมาใช้งานอีก จนกระทั่งเกิดเหตุการณ์ปี 2535 ขึ้นอีก สถานที่เหล่านี้ก็ถูกเผาทำลายอีก แต่ไม่ได้มีการบูรณซ่อมแซม และไม่ได้ถูกใช้งานดังเดิม สถานีตำรวจนครบาลนางเลิ้ง ย้ายสถานที่ไปจากที่เดิม ซากกรมสรรพากรที่ปลายสะพานสมเด็จพระปิ่นเกล้าที่ถูกเผาถูกปล่อยให้มีสภาพทรุดโทรมจนล่วงเลยปี 2538 ไปแล้วจึงได้มีการปรับปรุงให้เป็นสวนหย่อม จึงไม่เกิดเหตุการณ์ซ้ำในปี 2538 (หรือ 19 ปี จากปี 2519)
สถานการณ์ของประเทศไทยปี 2553
ในการพิจารณาว่าในปี 2553 สถานการณ์ของสังคมไทยจะเป็นอย่างไรนั้น ในเบื้องต้นผมได้ข้อมูลในอดีตที่สามารถสำหรับนำมาวิเคราะห์กับวงรอบทางโหราศาสตร์ ในเหตุการณ์ที่มีความสัมพันธ์เชื่องโยงกัน ดังนี้
1. การรัฐประหาร รสช. 2534 โดยวงรอบเมโทนิก 19 ปี
2. การอายัดและการยึดทรัพย์โดย คตส.ยุค รสช. 2534 โดยวงรอบเมโทนิก 19 ปี
3. รัฐบาล พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ 2523 โดยวงรอบการโคจร 30 ปี ของดาวเสาร์
4. รัฐประหาร 1-3 เมษายน 2524 ที่ผลลัพธ์สุดท้ายกลายเป็นกบฏยังเติร์ก
5. รัฐประหาร 9 กันยายน พ.ศ. 2528 ที่ผลลัพธ์สุดท้ายกลายเป็นกบฏทหารนอกราชการ หรือ กบฏ 9 กันยา
กรณีศึกษา การรัฐประหาร รสช. 2534 กับสถานการณ์ในปัจจุบัน 2553
ในปี พ.ศ. 2533 พรรคประชาธิปัตย์ได้ถอนตัวจากการร่วมรัฐบาล โดยให้เหตุผลว่า ไม่ต้องการให้เกิดสภาพเผด็จการรัฐสภา อันเนื่องจากเสียงของ ส.ส. ฝ่ายรัฐบาล พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ มีอยู่เป็นจำนวนมากกว่าฝ่ายค้านหลายเท่า
วันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2534 พลเอกสุนทร คงสมพงษ์ ประธานคณะ รสช. นำการก่อรัฐประหารในประเทศไทย โค่นล้มรัฐบาลที่พลเอกชาติชาย ชุณหะวัน เป็นนายกรัฐมนตรี หลังจากนั้นได้ทำการอายัดและตรวจสอบทรัพย์สินของอดีตรัฐมนตรีจำนวน 23 คน ผลการตรวจสอบทรัพย์สิน สรุปให้ยึดทรัพย์ของอดีตรัฐมนตรีจำนวน 10 คน ( ที่มา : http://th.wikipedia.org/wiki/%E0%B8%9E.%E0%B8%A8._2534)
ในคอลัมน์ คนปลายซอย หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์ ฉบับวันศุกร์ที่ 7 พฤศจิกายน 2550 โดย เปลว สีเงิน ย้อนอดีตเปิดโปงให้เห็นภาพอย่างเจ็บแสบว่า ใน ยุครัฐประหาร รสช. เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2534 ที่มี บิ๊กจ๊อด พล.อ.สุนทร คงสมพงษ์ เป็นหัวหน้าใหญ่ ก็มี พ.ต.ท.ทักษิณ คนนี้แหละที่ไปพินอบพิเทาเกาะแข้งเกาะขาวิ่งขอสัมปทานดาวเทียมไทยคม
..
โครงการดาวเทียมสื่อสาร เริ่มมาตั้งแต่ปี 2526 และเริ่มดำเนินการในปี 2528 โดยมีบริษัทเอกชนเสนอตัวมาหลายราย แต่ไม่สามารถทำข้อตกลงให้เป็นที่พอใจทั้ง 2 ฝ่าย กระทั่งปี 2533 จึงมีการประกาศเชิญชวนอีกครั้ง ผลปรากฎว่าบริษัท ชินวัตรคอมพิวเตอร์ แอนคอมมิวนิเคชั่นส์ จำกัด ได้ชัยชนะเหนือคู่แข่ง โดยมีการลงนามในสัญญาเมื่อวันที่ 11 กันยายน 2534 ในยุคที่ รสช.เรืองอำนาจ หลังก่อรัฐประหาร 7 เดือน
คอลัมน์นิสต์ผู้นี้ยังตั้งคำถามและยกคำสนทนาของบางคนที่เอ่ยกับ พล.อ.สุนทร ในวันที่ส่งดาวเทียมไทยคมขึ้นสู่อวกาศที่เฟรนช์เกียนา เมื่อวันที่ 17 ธ.ค.2536 ที่กล่าวว่า ถ้าไม่มีพี่ชายผมคนนี้ ก็ไม่มีวันนี้
(ที่มา : http://us.thaingo.org/webboard/view.php?id=13904)
(ภาพประกอบจาก : http://silance-mobius.blogspot.com/2007/11/blog-post_06.html)
สถานการณ์เมื่อปี 2534 รัฐบาลในขณะนั้นถูกสังคมตั้งข้อสงสัยเกี่ยวกับการทุจริตในการบริหารราชการ แต่นายกรัฐมนตรี พลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ มีคำตอบเพียง NO Poblem ให้กับสังคมหลายครั้ง จนเป็นเหตุให้ทหารในขณะนั้นนำมาเป็นเหตุอ้างเพื่อก่อการรัฐประหาร และแต่งตั้ง คตส. เพื่อทำการอายัด และยึดทรัพย์นักการเมืองในขณะนั้น
ความแตกต่างของ คตส. กรณีศึกษา : การยึดทรัพย์ยุค รสช. 2534 และการอายัดทรัพย์ยุค คปค. 2549
ยุค รสช. สั่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบทรัพย์สิน (คตส.) จำนวน 7 คน ตามประกาศ รสช.วันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2534 เพียงสองวันหลังยึดอำนาจ มีพล.อ.สิทธิ จิรโรจน์ เป็นประธาน และมีคำสั่ง รสช.ที่ 5/2534 ในวันที่ 28 กุมภาพันธ์ สั่งอายัดและห้ามจำหน่ายจ่ายโอนทรัพย์สินนักการเมืองทันที 22 คนพร้อมเมียและลูก และถัดมาอีก4 วันประกาศเพิ่มอีก 3 ราย
จากนั้น 25 นักการเมืองต้องนำหลักฐานมาชี้แจง คตส. พิสูจน์ที่มาของทรัพย์สิน ใครพิสูจน์ที่มาที่ไปได้ คตส. จะสั่งยกเลิกการอายัดทรัพย์ โดยในการกลั่นกรองรอบ 2 คตส. ประกาศเลิกอายัด 12 คน รอบ 3 รอดอีก 3 คน เหลือที่ถูกสั่งยึดทรัพย์ 10 คน รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 1,969.38 ล้านบาท
ก่อนทยอยประกาศรายชื่อยึดทรัพย์นั้น สภาได้ผ่านกฎหมายให้ศาลเป็นผู้ชี้ขาดการ ยึดทรัพย์ โดย 10 นักการเมืองสามารถอุทธรณ์คำสั่งยึดทรัพย์ไปยังศาลเพื่อขอให้ถอนคำวินิจฉัยยึดทรัพย์
25 มีนาคม 2536 ศาลฎีกาวินิจฉัยคำร้องอุทธรณ์ของนักการเมืองที่ถูกยึดทรัพย์ว่า ประกาศ รสช. ฉบับ 26 ข้อ 2 และข้อ 6 ให้ตั้ง คตส.ให้มีอำนาจสอบสวนและสั่งอายัดทรัพย์นักการเมืองนั้น ขัดต่อประเพณีการปกครองของไทยในระบอบประชาธิปไตย เพราะเป็นการตั้งคณะบุคคลที่มิใช่ศาลมาทำการเช่นเดียวกับศาล ทรัพย์นักการเมืองที่สั่งอายัดให้ตกเป็นของแผ่นดินเป็นทรัพย์ที่นักการเมืองได้มาก่อนประกาศ รสช. ฉบับ 26 จะมีผลบังคับใช้ การยึดทรัพย์ที่เกิดขึ้นเป็นการออกและใช้กฎหมายที่มีโทษทางอาญาให้มีผลย้อนหลัง จึงขัดธรรมนูญการปกครอง พ.ศ.2534 และใช้บังคับมิได้
คำวินิจฉัยของ คตส.(ยุคนั้น 2534) ในเรื่องอายัดทรัพย์จึงไม่มีผลบังคับไปด้วย 10 นักการเมืองหลุดบ่วงทั้งหมด คำสั่งตั้ง คตส.ยุคนี้ (2549) แม้จะไม่ได้ให้อำนาจชี้ขาดสั่งยึดทรัพย์ได้ทันที เพราะเมื่อตรวจสอบทำสำนวนคดีทั้งหมดแล้ว ต้องส่งเรื่องเข้าสู่กระบวนการทางศาลตามปกติ เพื่อพิพากษาตัดสินในท้ายที่สุด โดย คตส.ทำหน้าที่เสมือนทีมอัยการพิเศษ (ที่มา : http://konthaiuk.wordpress.com/thai-democracy)
กรณีที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองจะอ่านคำพิพากษาคดี ยึดทรัพย์ 7.6 หมื่นล้านในวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2553 ซึ่งเป็นผลสืบเนื่องมาจากการทำงานของ คตส. (ยุค คปค. 2549) ซึ่งไม่ว่าผลการตัดสินจะออกมาเช่นใด ผลที่ตามมาก็ไม่น่าจะเหมือนกับเหตุการณ์ที่เคยเกิดขึ้นในอดีต เพราะในครั้งนั้น คตส. มีคำสั่งยึดทรัพย์ภายใต้คำสั่งของ รสช. ไม่ใช่คำสั่งของศาล
กรณีศึกษา : รัฐบาลพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ปี 2523 -2531
พลเอกเปรมได้รับการยอมรับจากหลายฝ่าย หลังจากพลเอกเกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ ลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2523 สภาผู้แทนราษฎรทำการหยั่งเสียงเพื่อหาตัวผู้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และเลือกพลเอกเปรม โดยมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 3 มีนาคม พ.ศ. 2523 เป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 16 ของไทย (ที่มา : http://th.wikipedia.org/wiki/ )
วีระ มุสิกพงษ์ เป็นผู้ที่มีบทบาททำให้พรรคประชาธิปัตย์ได้เข้าร่วมรัฐบาล และได้รับการแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม แม้เขาจะเป็นเพียง ส.ส.สอบตก ยุคนั้นเองที่ป๋าเปรมดึงไตรรงค์ สุวรรณคีรี อาจารย์ธรรมศาสตร์ มาเป็นโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นจุดเริ่มต้นของสามเกลอหัวแข็งอันมี วีระ-เสธ.หนั่น-ไตรรงค์
พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ เจ้าของวลีอมตะ กลับบ้านเถอะลูก ผู้ซึ่งมียุทธวิธี การจัดการ แก้ไขปัญหาการบริหารราชการ และผู้คนรอบข้าง ด้วยความสงบ และรอเวลาที่ผ่านไปทำให้สถานการณ์ต่างๆและผู้เกี่ยวข้องเปลี่ยนแปลงไปเองตามกระแสกรรม เป็นแนวปฏิบัติที่ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ได้นำมาใช้ในปีทดลองงาน 2552 อย่างได้ผล และจะยังใช้อย่างต่อเนื่องต่อไปในปี 2553 และต่อๆไป
ระยะเวลา 30 ปีที่ผ่านมา ตัวละครทั้งหมดของเหตุการณ์เมื่อปี 2523 ปัจจุบันยังมีชีวิตอยู่ครบทุกคน แต่กาลเวลาที่เปลี่ยนไปทำให้สถานะภาพของบุคคลบางคนเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม และมีตัวละครเพิ่มขึ้นมาด้วย
ปี 2523 นายไตรรงค์ สุวรรณคีรี เป็นโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ของพลเอกเปรม
ปี 2553 นายไตรรงค์ สุวรรณคีรี มาเป็นรองนายกรัฐมนตรี ของ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ
ปี 2523 : วีระ-เสธ.หนั่น-ไตรรงค์ สามเกลอหัวแข็ง เป็นคนข้างกายของพลเอกเปรม
ปี 2553 : วีระ-จตุพร ณัฐวุฒิ สามเกลอหัวขวด เป็นคนที่อยู่ตรงข้ามกับพลเอกเปรม
โดยที่ วีระ ในวันนี้แปรเปลี่ยนไปเป็นหัวขบวนของ คนที่อยู่ตรงข้ามกับพลเอกเปรม
เปรียบเทียบดวงชะตา ปี 2523 และ ปี 2553
ภาพดวงชะตาเปรียบเทียบ ปี 2523 และ 2553 จากวงรอบการโคจร 30 ปี ของดาวเสาร์ เมื่อ พิจารณาปัจจัยทางโหราศาสตร์ที่เหมือนกันจะพบว่า
ดาวทิพย์อพอลลอน ทำมุม 90 องศา กับ ดาวทิพย์วัลคานุส มีความหมายว่า ความสำเร็จ ความเจริญ รุ่งเรืองอย่างใหญ่หลวง ซึ่งหากย้อนไปช่วงหลังปี 2523 จะพบว่า ประเทศไทยก้าวเข้าสู่ยุค โชติช่วงชัชวาล เศรษฐกิจของโลก และของไทยเฟื่องฟู แสดงว่า หลังจากปี 2553 หรือ 2010 เศรษฐกิจของโลกจะกลับเริ่มพลิกฟื้นตัวขึ้นได้
ดวงชะตาปี 2523
ดาวเสาร์โคจรเข้าสู่เรือนที่ 4 ของประเทศไทย มีความหมายว่า การเปลี่ยนแปลงและข้อจำกัดของสังคมไทย ซึ่งหากย้อนเหตุการณ์ไปหลังปี 2523 จะพบว่า พลเอกเปรม ใช้นโยบายประหยัดในการบริหารจัดการ
ดาวพฤหัสอยู่เรือนที่ 3 มีความหมายว่า มีความสำเร็จในการติดต่อ การเจรจา การค้าขาย การขยายตัวของกิจการ และการคมนาคม การขนส่ง
อาทิตย์อยู่เรือนที่ 5 มีความหมายว่า มีความเป็นมงคลในการลงทุน การศึกษา การกีฬา มีนักกีฬาประสบความสำเร็จ เช่น เขาทราย กาแล๊กซี่ เป็นแชมป์โลกในยุคนั้น
ดวงชะตาปี 2553
ดาวเสาร์โคจรเข้าสู่เรือนที่ 1 ของประเทศไทย มีความหมายว่า การเปลี่ยนแปลงและข้อจำกัดในสิ่งแวดล้อมของประเทศไทย ซึ่งในความหมายทางโหราศาสตร์ เรือนที่ 1 และเรือนที่ 4 สามารถใช้แทนกันได้ หากเป็นดวงชะตาของบุคคลจะอ่านความหมายเกี่ยวกับครอบครัว บ้านเรือน ที่อยู่อาศัย มีการเปลี่ยนแปลงภายใต้ข้อจำกัดที่ถูกกำหนด แสดงว่า หลังปี 2553 ไม่ว่าใครจะมาเป็นรัฐบาล ก็จะต้องบริหารจัดการด้วยนโยบายที่ประหยัด การไม่ฟุ่มเฟือย
อาทิตย์อยู่เรือนที่ 3 มีความหมายว่า มีความเป็นมงคล (ความเป็นมงคล = ความสำเร็จ) ในการติดต่อ การเจรจา การค้าขาย การขยายตัวของกิจการ และการคมนาคม การขนส่ง
ดาวพฤหัสอยู่เรือนที่ 5 มีความหมายว่า มีความสำเร็จในการลงทุน การศึกษา การกีฬา กิจการการเสี่ยงโชค (การใช้เครื่องจำหน่ายล๊อตเตอรี่)
ผลการศึกษา กรณีวงรอบเมโทนิก 19 ปี และวงรอบการโคจร 30 ปีของดาวเสาร์
ผลการศึกษาเปรียบเทียบพบว่า โอกาสที่สถานการณ์ของประเทศไทยจะเหมือนและต่างกับกรณีศึกษาได้ทั้ง 2 กรณี แต่เป็นความเหมือนและความต่างควบคู่กัน คือ
1. โอกาสที่จะเกิดการรัฐประหาร คงเป็นไปไม่ได้ เพราะขาดเงื่อนไขที่ผู้คิดก่อการไม่สามารถนำมาอ้างให้สังคมยอมรับได้
2. กรณีการยึดทรัพย์ มีความเหมือนและความต่างในตัวเอง ผลของคดี ต้องปล่อยให้เป็นไปตามผลกรรมของผู้เกี่ยวข้อง
3. ประเทศไทยจะเดินหน้าไปกับรัฐบาลที่มีพรรคประชาธิปัตย์ร่วมเป็นรัฐบาล เช่นเดียวกับช่วงปี 2523 โดยมี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นนายกรัฐมนตรีที่มีลีลาคล้ายคลึงกับพลเอกเปรม ด้วยท่าทีใช้ความสงบสยบความเคลื่อนไหว สุขุม ลุ่มลึก ไม่โผงผางและไม่ผลีผลามตัดสินใจ
บทสรุป : ทิศทางของประเทศไทยปี 2553
ปี 2552 ที่ผ่านมา ดวงชะตาของผู้มีอำนาจรัฐ หรือ นายกรัฐมนตรี อยู่ในสถานะที่เรียกได้ว่าแทบจะไม่มีอำนาจในการต่อรองใดๆได้เลย เป็นฝ่ายตั้งรับที่ต้องเสียเปรียบฝ่ายต่างๆ ไม่มีแม้กระทั่งอำนาจที่จะต่อรองกับพรรคร่วมรัฐบาล หลายเรื่องต้องปล่อยให้เป็นไปตามความประสงค์ของฝ่ายอื่น ทำได้ก็เพียงกำหนดเงื่อนไขบางประการกำกับไว้เพื่อไม่ให้เสียหลักการมากเกินไปนัก
แต่ในปี 2553 สถานการณ์จะกลับเป็นตรงกันข้าม นายกรัฐมนตรี จะเป็นฝ่ายที่สามารถแสดงออกถึงภาวะผู้นำ การเป็นผู้นำที่มีอำนาจในการบริหาร สามารถกำหนดความเป็นไปต่างๆได้มากกว่าเดิม ด้วยวิธีการจัดการ แก้ไขปัญหาการบริหารราชการ และผู้คนรอบข้าง ด้วยความสงบ และรอเวลาที่ผ่านไปทำให้สถานการณ์ต่างๆและผู้เกี่ยวข้องเปลี่ยนแปลงไปเองตามกระแสกรรม คล้ายกับที่ พอเอกเปรม ติณสูลานนท์ เคยใช้ได้ผลมาแล้ว และสามารถรักษาสถานะในตำแหน่งนายกรัฐมนตรีได้ยาวนานต่อเนื่องถึง 8 ปี (2523-2531)
ปี 2523 พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ได้มีคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ 66/2523 เรื่อง นโยบายการต่อสู้เพื่อเอาชนะคอมมิวนิสต์ เป็นการใช้หลัก การเมืองนำการทหาร ในการต่อสู้กับการก่อการร้ายคอมมิวนิสต์ (ที่มา : ศูนย์ข้อมูลการเมืองไทย http://www.politicalbase.in.th ) ได้ระบุถึงสาเหตุของการก่อการร้ายคอมมิวนิสต์ว่าเป็นเรื่องของความไม่เท่าเทียมกันทางเศรษฐกิจ สังคมและการเมือง ความไม่เท่าเทียมทางการเมือง
ปี 2553 หากวงล้อประวัติศาสตร์ 30 ปีของดาวเสาร์นับจากปี 2523 หมุนกลับมาจริง ก็หมายความว่า รัฐน่าจะมีคำสั่ง หรือการตรากฎหมายเพื่อแก้ปัญหา 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เช่นเดียวกับการแก้ปัญหาสำคัญของชาติเมื่อปี 2523 ซึ่งประชาชนที่ต่อสู้ในเขต 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้มีความรู้สึกว่า พวกเขาไม่ได้รับความเป็นธรรมจากอำนาจรัฐมานานแสนนาน ซึ่งจะเห็นว่า สภาพของปัญหาที่เกิดขึ้นมีลักษณะที่คล้ายกัน คือ ความไม่เท่าเทียมกันในทุกด้าน ซึ่งในทางปรัชญาสามารถเทียบเคียงสถานการณ์ทั้ง 2 กรณีเป็นเช่นเดียวกันได้
ส่วนกรณีความไม่สงบจากเหตุอื่นๆนั้น ไม่สามารถนำมาเทียบเคียงกับเหตุการณ์ตามที่กล่าวมาแล้วได้ เพราะเป็นปัญหาในระดับ บุคคลหรือกลุ่มบุคคลที่มีปัญหาต่อรัฐ ไม่เหมือนกับปัญหาภัยคอมมิวนิสต์เมื่อ 30 ปีที่แล้ว กับปัญหา 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ในขณะนี้ ที่เป็นปัญหาของประชาชนกลุ่มใหญ่ของประเทศ ที่ได้รับความไม่เท่าเทียมกันในสังคมอย่างแท้จริง จากเหตุผลดังกล่าวนี้ จึงเป็นคนละกรณีกัน การแก้ปัญหาจึงไม่อาจจะเทียบเคียงกันได้